เมื่อพูดถึงคำว่า "การวิเคราะห์" บางคนแค่ได้ยินก็รู้สึกปวดหัวขึ้นมาทันทีละครับ
นี่ขนาดยังไม่ได้เห็นพวกตัวเลขหรือว่ากราฟต่าง ๆ เลย (โรคนี้ผมว่ามีคนเป็นกันเยอะ )
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มใช้งาน Google Analytics (หรือเรียกสั้น ๆ ว่า GA)
การที่ได้เห็นหน้าตาของ GA ในครั้งแรกนั้น อาจจะทำให้บางคนรู้สึกว่า “เอ่อ… หนูขอกลับไปนั่งไถฟีดดู Facebook ดีกว่า(ค่ะ)!”
คือมันมีรายงานเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ไม่รู้ว่าจะคลิกตรงไหนอะไรยังไง!
บางคนแอบกลัวว่า เกิดคลิกอะไรมั่วซั่วไป ข้อมูลมันจะถูกแก้ไข หรือว่าทำให้ผิดเพี้ยนไปหรือเปล่า(วะ?)
เลยเป็นที่มาของโพสนี้ครับ โดยที่ผมหวังว่าจะพอช่วยจุดประกายให้คุณที่กำลังเริ่มใช้งาน GA อยู่ สามารถที่จะนำข้อมูล (Data) ต่าง ๆ ที่มีอยู่เยอะแยะมากมายนั้น…
ให้นำมาใช้ใน “การวิเคราะห์” เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (Insights) และนำไปใช้ในการตัดสินใจ แก้ปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาธุรกิจของคุณให้ดีขึ้นต่อไป
โดยเฉพาะการนำ GA มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ
ซึ่ง GA เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้คุณสามารถเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายของคุณได้
และช่วยให้คุณสามารถนำข้อมูลเชิงลึกจากการวิเคราะห์ นำไปพัฒนาแคมเปญการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ของคุณให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้ต่อไป
ถ้าพร้อมแล้วก็มาลุยไปพร้อมกันเลยครับ
(ขอแถมให้อีกนิดนึงครับว่า จากบทความของ LinkedIn ได้ยกเอาทักษะในเรื่องของการวิเคราะห์ เป็นหนึ่งในทักษะของคนหางานที่บริษัทต่าง ๆ ต้องการตัวมากที่สุดในปี 2020 นี้ด้วยครับ)
Big Data? พวกเราอยู่ในยุคของข้อมูลที่คำว่า Big มันเล็กเกินไปซะแล้ว!
ปัญหาของโลกเราในยุคนี้ ไม่ใช่เรื่องของการหาข้อมูลอะไรไม่ได้ละครับ แต่เป็นเรื่องของข้อมูลที่มันมีเยอะจนล้นโลกเกินไปแล้วต่างหาก
ยิ่งเป็นยุคที่ธุรกิจต่าง ๆ ก็หันมาทำออนไลน์กันหมดแล้ว “การวิเคราะห์” ในส่วนของเว็บไซต์ ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญมาก ๆ ของธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ
จากรูปด้านบนผมขอสรุปง่าย ๆ แบบนี้ครับว่า…
ข้อมูลต่าง ๆ จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่มีการวิเคราะห์แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
หรือบางคนยอมเสียเวลาทำการวิเคราะห์แล้ว แต่กลับไม่นำเอาข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการวิเคราะห์นั้น เอาไปใช้ปรับปรุงให้ดีขึ้น แบบนี้ก็น่าเสียดาย (เวลา) เหมือนกันครับ
ซึ่งเครื่องมือที่คุณสามารถนำมาใช้ช่วยใน “การวิเคราะห์เว็บไซต์” ของคุณได้นั้น ก็หนีไม่พ้น Google Analytics ที่ทาง Google สร้างมาเพื่อให้พวกเราได้ใช้งานกันแบบฟรี ๆ นี่แหละครับ (แต่ถ้าหากว่าใครไม่สบายใจใช้ของฟรี ทาง Google เค้าก็มี Analytics 360 มาให้คุณเสียตังค์เพื่อความสบายใจด้วยนะครับ ฮาๆๆ)
Google Analytics คืออะไร?
Google Analytics คือเครื่องมือที่ให้ใช้ฟรีจาก Google สำหรับใช้ใน “การวิเคราะห์เว็บไซต์” โดยเฉพาะข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ
อย่าลืมนะครับว่า ธุรกิจไหนที่เข้าใจลูกค้าได้ดีกว่า ย่อมได้เปรียบ! ซึ่ง GA สามารถช่วยคุณในเรื่องที่ว่านี้ได้เป็นอย่างดีเลยครับ
โดยที่ใน GA จะมีรายงานต่าง ๆ ที่(ซ่อน)อยู่ในเมนูหลัก ๆ 5 กลุ่ม คือ
- Realtime
- Audience
- Acquisition
- Behavior
- Conversions
(เนื่องจากว่าโพสนี้เป็นโพสที่เขียนขึ้นมาสำหรับมือใหม่ ผมขอไม่ลงรายละเอียดเยอะมากเกินไป จนทำให้น้อง ๆ กลัวและไม่อยากเข้าไปใช้งานซะก่อนนะครับ)
1. Realtime
ในส่วนนี้คุณจะได้เห็นข้อมูลต่าง ๆ ของกลุ่มเป้าหมายที่อยู่บนเว็บไซต์ของคุณในตอนนี้แบบ Realtime เลยครับ
คุณจะรู้ได้ว่าตอนนี้มีคนอยู่บนเว็บไซต์ของคุณกี่คน? เข้าเว็บคุณมาจากช่องทางไหนบ้าง? หรือกำลังอ่านเนื้อหาหน้าไหนบนเว็บไซต์ของคุณอยู่ในตอนนี้? เป็นต้น
2. Audience
รายงานต่าง ๆ ที่อยู่ใน Audience ก็จะเป็นรายงานที่เกี่ยวกับ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ
จะมีรายงานที่เกี่ยวกับ “คุณลักษณะ” ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น
- อายุเท่าไหร่ เพศอะไร
- อาศัยอยู่ที่ไหน
- มีความสนใจเรื่องอะไร
- เพิ่งเข้าเว็บครั้งแรก (New Users) หรือ เคยเข้าเว็บมาแล้ว (Returning Users)
- ฯลฯ
จำง่าย ๆ ก็คือ “พวกเค้าเป็นใคร?” ที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ
3. Acquisition
ในส่วนของรายงานต่าง ๆ ที่อยู่ในส่วนของ Acquisition ก็จะเป็นรายงานที่สามารถบอกคุณได้ว่า กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณนั้น…
- พวกเค้าอาจจะเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณจากการค้นหาที่ Google
- หรือคุณอาจจะโพสลิงค์เอาไว้ที่เพจของคุณบน Facebook แล้วพวกเค้าคลิกเข้ามา
- หรือคุณไปทำข่าว Advertorial ที่เว็บดัง ๆ เช่น Marketing Oops, ลงทุนแมน เป็นต้น
- หรือบางคนอาจจะเคยเข้าเว็บของคุณมาก่อน แล้ว Bookmark เก็บเอาไว้ เพื่อคราวหน้าจะได้คลิกเข้ามาอีกง่าย ๆ
- รวมไปถึงการทำโฆษณาผ่านทางแพลตฟอร์มทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, LINE Ads หรือล่าสุด TikTok ก็ตาม
- ฯลฯ
จำง่าย ๆ ก็คือ “พวกเค้าเข้าเว็บไซต์ของคุณมาจากช่องทางไหน?“
4. Behavior
ในส่วนของ Behavior คุณจะรู้ได้ว่า “พฤติกรรม” ของกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณนั้นเป็นยังไง?
- ใช้เวลาอยู่บนเว็บไซต์ของคุณนานแค่ไหน
- พวกเค้าเข้าไปอ่านเนื้อหาหน้าไหนบ้าง
- เข้ามาอ่านเนื้อหาหน้านี้ แล้วคลิกไปอ่านเนื้อหาหน้าไหนต่อ
- ใช้เวลาในการรอโหลดหน้าเว็บนานมั๊ย
- ฯลฯ
จำง่าย ๆ ก็คือ “พวกเค้าทำอะไร?” บนเว็บไซต์ของคุณ
5. Conversions
ในส่วนสุดท้าย จะเป็นเรื่องของ Conversions หรือสิ่งที่คุณอยากให้พวกเค้าทำบนเว็บไซต์ของคุณ
คุณสามารถที่จะรู้ได้ว่า กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณนั้น…
- กลายมาเป็นลูกค้ามุ่งหวัง (Leads) ที่รอให้ทีมขายของคุณติดต่อกลับกี่คน
- กลายมาเป็นลูกค้า (Customers) ที่ซื้อของออนไลน์จากคุณกี่คน
- วันนี้มียอดขายเท่าไหร่
- วันนี้สินค้าตัวไหนขายดี
- ฯลฯ
จำง่าย ๆ ก็คือ “พวกเค้าได้ทำในสิ่งที่คุณต้องการมั๊ย?“
หมายเหตุ: การวัดผล Conversions ได้นั้น จะต้องมีการเข้าไปตั้งค่าในส่วนที่เรียกว่า Goals ใน GA เพิ่มเติมครับ ซึ่งใครที่ไม่ได้เข้าไปตั้งค่า Goals เอาไว้ ก็จะไม่สามารถเห็นรายงานที่อยู่ในส่วนของ Conversions ได้
รวมไปถึงเว็บ Ecommerce ที่ต้องมีการตั้งค่าต่าง ๆ รวมไปถึงแก้ไข Tracking Code เพิ่มเติมที่เว็บไซต์ด้วยครับ
OK ถึงตอนนี้คุณได้รู้แล้วว่า Google จะแบ่งรายงานต่าง ๆ ออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. Audience (พวกเค้าเป็นใคร?)
2. Acquisition (พวกเค้าเข้าเว็บจากช่องทางไหน?)
3. Behavior (พวกเค้าทำอะไร?)
4. Conversions (พวกเค้าได้ทำในสิ่งที่คุณต้องการมั๊ย?)
ถึงเวลามาทำความรู้จักกับ 2 สิ่งที่คุณต้องเจอทุกครั้ง! ตอนที่คุณดูรายงานต่าง ๆ ใน GA กันครับ
2 สิ่งนั้นก็คือคำว่า Dimension และ Metrics
Dimensions และ Metrics คืออะไร?
ถ้าคุณสังเกตที่ตารางข้อมูล คุณก็จะเห็นได้ว่าในทุก ๆ ตารางข้อมูลจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ
- Dimension
- Metrics
Dimensions คืออะไร?
Dimension ก็คือ “คุณสมบัติของข้อมูล” ที่เอาไว้ใช้เรียกเพื่อให้เข้าใจความหมายของข้อมูลนั้น ๆ เช่น Traffic Source, Browser, Campaign, Country, Device เป็นต้น
โดยที่ทาง Google ก็จะเอาพวก Dimension ต่าง ๆ ไป(ซ่อน)ไว้ตามรายงานต่าง ๆ ที่อยู่ในเมนูของ Acquisition, Behavior, หรือ Conversions ที่เกี่ยวข้องกับนั่นเองครับ
ผมขอแนะนำคุณแบบนี้ครับว่า “คุณต้องตั้งคำถามขึ้นมาก่อน ว่าคุณอยากจะรู้อะไร?” คุณถึงจะรู้ได้ว่าจะไปหาข้อมูลพวกนั้นจากรายงานไหนใน GA ต่อไป
Metrics คืออะไร?
Metrics ก็คือ “ตัวเลขที่ใช้วัดในเชิงปริมาณ” ของคุณสมบัติของข้อมูล (Dimension) นั่นเอง เช่น Goal Completions, Users, Sessions, Bounce Rate เป็นต้น
ง่าย ๆ ก็คือ ตัวเลขต่าง ๆ ที่คุณเห็นใน GA นั้น ก็คือ Metrics นั่นเอง
การวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ นั้น ง่ายมากครับ!
คือผมหมายถึง พูดง่าย แต่ทำยากนะครับ (แต่อย่าเพิ่งเลิกอ่านซะก่อนนะครับ เดี๋ยวผมช่วยชี้ทางให้ครับ ฮาๆๆ)
ผมว่าคนที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลให้ได้ดีนั้น จะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ แล้วก็ผ่านการฝึกฝนมาในระดับนึงเลยครับ
ผมก็เลยอนุญาตขอแนะนำโพสนี้และโพสนี้ ที่ทางเทพเจ้าแห่งการวิเคราะห์เว็บไซต์ของผม Mr.Avinash Kaushik ได้เขียนเอาไว้ มาแนะนำให้พวกคุณได้เข้าไปอ่านต่อกันครับ
วิธีใช้งาน Google Analytics ในการวิเคราะห์ง่าย ๆ 5 ขั้นตอน
ผมขอแนะนำพวกคุณให้เริ่มจาก 5 ขั้นตอนนี้ก่อน ในการที่จะนำ GA มาใช้ในการช่วยวิเคราะห์เว็บไซต์ของคุณ
ขั้นที่ 1: อันดับแรกเลยคือคุณต้องรู้ก่อนว่า “เป้าหมายธุรกิจคุณคืออะไร?“
ขั้นที่ 2: เสร็จแล้วคุณก็มาดูว่าแล้ว “เป้าหมายเว็บไซต์” ของคุณมันช่วยทำให้เกิดเป้าหมายธุรกิจของคุณหรือเปล่า?
ขั้นที่ 3: โดยดูจาก “ตัวเลขวัดผล (KPIs)” ที่คุณนำมาใช้วัด ซึ่งการมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้มีตัวเลขวัดผลที่แตกต่างกันเช่นเดียวกัน
ขั้นที่ 4: แต่คุณจะรู้ว่าจะใช้ตัวเลขวัดผลอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องทำการตั้ง “ตัวเลขคาดหวัง” หรือว่ายอด Target ที่คุณต้องการด้วย เช่น ภายใน 3 เดือน คุณตั้งเป้าไว้ให้มียอดขายเดือนละ 1 ล้านบาท เป็นต้น
ผมแนะนำให้คุณตั้งเป้าหมายที่อิงจากความเป็นจริงด้วยนะครับ ซึ่งส่วนตัวผมชอบการตั้งเป้าหมายที่จะอิงจากตัวเลขปัจจุบัน เช่น ถ้ายอดขายเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านบาท ผมก็จะตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายใน 3 เดือนหน้า ขอเพิ่มอีกสัก 20% เป็น 1.2 ล้านบาท เป็นต้น
ทีนี้คุณก็เข้าไปดูตัวเลขต่าง ๆ (ยังจำกันได้ใช่มั๊ยครับ? ที่เรียกว่า Metrics) ที่อยู่ใน GA ครับว่า ตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง กับตัวเลขคาดหวังนั้น ตัวไหนมันมากกว่ากัน
ถ้าตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงดีกว่าตัวเลขคาดหวัง ก็แสดงว่าคุณทำได้ตามเป้าละ (เยี่ยมเลยครับ)
แต่ถ้าน้อยกว่า คุณก็ต้องหาคำตอบให้ได้ต่อไปครับว่าทำไม? แล้วทำยังไงถึงจะทำให้ตัวเลขมันดีขึ้นต่อไป (งานเข้ากันเลยทีนี้)
ขั้นที่ 5: เมื่อคุณเริ่มวิเคราะห์ คุณก็จะต้องนำเทคนิคที่เรียกว่า “การแบ่งกลุ่มของข้อมูล (Segmentations)” มาใช้ เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลทีละส่วน ๆ ไปครับ (เอาจริง ๆ เรื่องของ Segmentations นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการวิเคราะห์ข้อมูลครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดอยู่มากพอสมควร ไว้ผมจะมาเขียนให้คุณได้อ่านต่อในโพสต่อ ๆ ไปครับ)
โดยผมขอสรุปขั้นตอนต่าง ๆ ออกมาเป็น 5 สิ่งที่คุณจะต้อง “ตั้ง” ดังนี้
- ตั้ง “เป้าหมายธุรกิจ” ที่คุณต้องการ เช่น สร้างการรับรู้, เพิ่มจำนวนลูกค้ามุ่งหวัง, เพิ่มยอดขาย เป็นต้น
- ตั้ง “เป้าหมายเว็บไซต์” ที่ตรงและสอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจที่ตั้งไว้ในข้อ 1
- ตั้ง “ตัวเลขวัดผล (KPIs)” ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย
- ตั้ง “ตัวเลขคาดหวัง” เพื่อเป็น KPIs ที่ต้องการในการชี้วัดความสำเร็จ
- ตั้ง “กลุ่มของข้อมูล (Segments)” เพื่อนำมาวิเคราะห์ในส่วนของตัวเลขคาดหวังที่ตั้งเอาไว้ ว่าได้ตามที่ต้องการหรือไม่
ถึงตรงนี้ พวกคุณอาจจะอยาก Login เข้าไปดู GA ของตัวเองกันแล้วใช่หรือเปล่าครับ?
ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า เมื่อคุณทำการวิเคราะห์แล้ว คุณต้องนำข้อมูลเชิงลึก (Insights) ที่คุณได้มา แล้วนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ (Business Impact) ให้ดีขึ้นด้วยนะครับ (ไม่งั๊นอย่าไปเสียเวลาวิเคราะห์มันเลยครับ ไม่มีประโยชน์!)
แล้วคุณก็ลองฝึกตั้งคำถามดูครับ ว่าอยากจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับอะไร? แล้วก็เข้าไปหาดูจากรายงานต่าง ๆ ที่(ซ่อน)อยู่ในเมนูหลัก ๆ ของ GA
ส่วนคนไหนที่ยังไม่มี GA สำหรับเว็บไซต์ของตัวเอง ผมแนะนำให้คุณเข้าไปทดลองใช้งาน GA ผ่านทาง Demo Account ของ Google ได้ผ่านทางลิงค์นี้ได้เลยครับ >>> GA Demo Account (ห้ามอ้างว่าไม่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองแล้วดู GA ไม่ได้นะครับ)
หากคนไหนมีคำถามตรงจุดไหนเพิ่มเติม ก็รบกวนฝากคำถามไว้ที่ Comments ด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ
ขอบคุณมากครับ
อรรถทวี (GA Individual Qualification) เจริญวัฒนวิญญู
Konvertive – Delivering Your Business Conversions with Digital Marketing!
ปล. ทาง Google ได้มีคอร์สที่สอนการใช้งาน GA ทั้งแบบ (Basic และ Advanced) ให้เข้าไปเรียนได้ฟรีที่ลิงค์นี้ครับ
เมื่อคุณเรียนจบแล้ว คุณก็จะได้รับใบ Certification มาไว้ประดับบารมี (อีกแล้ว) เหมือนกับ Google Ads Certification เลยครับ (อ่านต่อ ทำอย่างไร? ถึงจะได้ “ใบรับรอง Google Ads Certification”)
ปล2. อย่าลืมลงทะเบียนเรียน Google Analytics ฟรีได้ที่ Google Analytics Academy ผมก็ขออวยพรให้น้อง ๆ ตั้งใจเรียน แล้วก็สอบผ่านกันทุก ๆ คนเลยนะครับ 🙂
ปล3. ส่วนน้อง ๆ คนไหนที่ไม่สบายใจกับของฟรี ก็สามารถเสียตังค์เรียน Google Analytics Mastery กับผมได้ ก็จะยินดีมาก ๆ เลยครับ ขอบคุณครับ 😉